| Tonkla Blooming
การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนเปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้เล็ก ๆ ที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสม เพื่อให้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มั่นคงและแข็งแรง
ในวันนี้เรามีโอกาสพูดคุยกับ นพ.ภาณุวัฒน์ พุทธเจริญ แพทย์อายุรกรรม โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ผู้ปกครองของ นายสันต์ พุทธเจริญ หนุ่มน้อยวัย 18 ปีที่ได้เติบโตและเรียนรู้จากรากฐานที่โรงเรียนต้นกล้า ก่อนที่จะก้าวสู่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสาขาการออกแบบดิจิทัล (Digital Design) แผนกออกแบบและการผลิตเกม (Game Design and Production) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) ในหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต
บทบาทของโรงเรียนต้นกล้าในเส้นทางการเรียนรู้ของลูก
จากการสังเกตการศึกษาของลูก และ การได้มีโอกาสมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ในขณะที่เรียนที่โรงเรียนต้นกล้า พบว่าทักษะการเรียนรู้ที่ได้รับการฝึกฝนจากโรงเรียนต้นกล้า คือ
- การคิดวิเคราะห์แยกแยะเชิงกระบวนการ มากกว่าการท่องจำข้อมูลเพื่อทำการสอบ
- การสร้างทัศนคติการเรียนรู้แบบเปิดกว้าง มองความเป็นไปได้ ในการแก้ปัญหาที่ไม่ยึดติดกับทางออกเพียงทางออกเดียว เนื่องจากในชั้นเรียนเปิดให้มีการระดมความคิด หาทางแก้ปัญหาหลากหลายวิธี เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ
- การฝึกให้เด็กรักการอ่าน โดยไม่ปิดกั้นทางเลือกของเนื้อหา
- การฝึกให้มีการแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติ เพิ่มเติมจากเนื้อหาสาระที่เรียน ทำให้เด็กได้ลงมือทำงานเป็นโครงการ และมีประสบการณ์จริงในการทำงานและกิจกรรมนอกห้องเรียน
จากความกังวล สู่ความมั่นใจ
“ความรู้สึกของผู้ปกครองในปีแรก มีความกังวลใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระทางวิชาการ เพราะกังวลว่าอาจจะมีปัญหาในการเรียนชั้นที่สูงขึ้น หรือการสอบเข้าสถาบันในช่วงชั้นมัธยม แต่เมื่อได้มีโอกาสเห็นการเสริมสร้างกระบวนการทางความคิดและเน้นแนวปฏิบัติในโครงการต่าง ๆ และได้พูดคุยกับลูก จึงพบว่า วิธีการของโรงเรียนต้นกล้า ได้ฝึกให้ลูกมีระเบียบวิธีทางความคิดที่เป็นระบบและเปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ต่าง ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ เมื่อมาเรียนชั้นมัธยมที่เด่นทางวิชาการ พบว่าลูกต้องใช้เวลาปรับตัวในช่วงแรก แต่เมื่อผ่านการทำความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ก็สามารถหาวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเองได้เพื่อที่จะได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่โรงเรียนกำหนด”
ความแตกต่างที่เห็นชัดระหว่างการเรียนที่โรงเรียนต้นกล้าและการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ?
“ข้อแตกต่างเห็นชัดเจน เมื่อเข้าเรียนในชั้นมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาที่ตนเองสนใจ และ ประกอบกับเป็นสาขาวิชาที่เน้นการทำงานเป็นโครงการ และ Project base พบว่าลูกสามารถทำได้ดีมาก โดยเป็นผู้นำกลุ่มและประสานงานให้ทีมงานทำงานด้วยกันได้ สามารถแจกจ่ายงานและนำมาประกอบเป็นชิ้นงานเพื่อนำเสนอได้อย่างดี เป็นที่ชื่นชมของอาจารย์ ซึ่งวิธีการเรียนนี้เป็นวิธีการเรียนที่ลูกฝึกมาตั้งแต่ประถมที่โรงเรียนต้นกล้า”
“สิ่งที่อยากบอกผู้ปกครอง คือ ควรต้องให้เวลา และสังเกตดูที่ตัวลูกว่าเขามีความสุขกับการเรียนรู้หรือไม่ เพราะทัศนคติของเด็กสำคัญมากต่อกระบวนการเรียนรู้ เด็กต้องมีความสุข และสามารถสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ที่ดีให้ตัวเอง เมื่อมีกระบวนการที่ดี เขาจะสามารถหาวิธีเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ”
“ขอบคุณโรงเรียนมาก ๆ จากใจจริง ที่ช่วยให้ลูกมีกระบวนการเรียนรู้ที่มีความสุข อยากให้โรงเรียนยึดมั่นในวิธีการที่ตนเองเชื่อมั่น และ สร้างนักเรียนรู้ที่ดีให้ประเทศไทยมาก ๆ ครับ”